• Connect with us

    Enter Books

    นมประจำเทศกาลโคมไฟ

    มุมชงกาแฟ

    ชวนอิ่มท้องไปกับขนมประจำเทศกาลโคมไฟ สัญลักษณ์ของความสามัคคีกลมเกลียวในครอบครัว

         หลายคนคงได้อ่านนิยายหรือดูซีรีส์เรื่องฉางอันสิบสองชั่วยามกันมาบ้างแล้ว นอกจากบรรยากาศอันตระการตาและการไล่ล่าสืบสวนที่เข้มข้นจนหายใจหายคอกันแทบไม่ทัน เทศกาลโคมไฟที่เป็นจุดเดินเรื่องยังมีประเด็นน่าสนใจชวนให้ติดตามต่ออีกมาก เฮียเองก็ไม่พลาดที่จะไปหาเกร็ดเล็กน้อยมาฝากทุกคนเหมือนกัน ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรนั้น เลื่อนลงไปอ่านกันได้เลย!

    ความเป็นมาของเทศกาลโคมไฟ

         เทศกาลโคมไฟหรือเทศกาลซั่งหยวนในนิยายเรื่องฉางอันสิบสองชั่วยาม มีอีกชื่อที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า “เทศกาลหยวนเซียว” คำว่า หยวนเซียว แปลว่า “ค่ำคืนแรก” ความหมายก็ตรงตามชื่อ เทศกาลนี้จะจัดขึ้นในคืนที่พระจันทร์ขึ้นเต็มดวงเป็นครั้งแรกหลังเทศกาลตรุษจีน

        เมื่อถึงเทศกาลหยวนเซียว ผู้คนมักพากันออกมาเดินชมโคมไฟยามค่ำคืน เล่นทายปริศนาโคมไฟ จุดประทัดและดอกไม้ไฟ แห่สิงโต ร้องรำทำเพลง เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลที่มีความครึกครื้นเป็นอย่างมาก หญิงสาวที่ปกติไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านก็ได้รับการยกเว้นให้ออกมาเดินเที่ยวในเทศกาล ทำให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสพูดคุยและพัฒนาความสัมพันธ์กัน เทศกาลหยวนเซียวนี้จึงไม่ต่างอะไรจากเทศกาลแห่งความรักของคนหนุ่มสาวในสมัยนั้นเลยล่ะ

    อาหารประจำเทศกาลโคมไฟ

         เดินเที่ยวงานจนอิ่มตาอิ่มใจแล้ว ก็ต้องเติมเสบียงให้ท้องสักหน่อย อย่างที่รู้กันว่าชาวจีนมักทานอาหารมงคลในวันเทศกาลสำคัญ ในค่ำคืนวันหยวนเซียวนี้ ชาวจีนมักจะทานขนมที่มีชื่อเหมือนเทศกาลอย่างขนมหยวนเซียวร่วมกันกับครอบครัว

        ดูจากภาพแล้วรู้สึกคุ้นขึ้นมาเลยใช่ไหม ขนมหยวนเซียวที่ว่านี้คล้ายกับขนมบัวลอยของบ้านเรานั่นเอง ที่บอกว่าคล้ายเพราะยังไม่เหมือนกับบัวลอยที่เราเคยกินซะทีเดียว ถึงเนื้อแป้งจะมีความเหนียวหนึบและเป็นลูกกลมๆ เหมือนกัน แต่ขนมหยวนเซียวมีขนาดที่ใหญ่กว่าและมักสอดไส้งาดำคลุกน้ำตาลไว้ด้านใน 

    ขนมหยวนเซียวหรือขนมทังหยวน

         ขนมที่หน้าตาคล้ายบัวลอยนี้มีชื่อเรียกต่างกันตามท้องถิ่น ทางตอนเหนือจะเรียกว่าขนมหยวนเซียว ส่วนทางตอนใต้จะเรียกว่าขนมทังหยวน ถึงรูปร่างภายนอกจะคล้ายกัน แต่กระบวนการทำของขนมทั้งสองอย่างนี้มีจุดที่ต่างกันเล็กน้อย โดยขนมหยวนเซียวมักเริ่มจากปั้นไส้เป็นลูกกลมๆ แล้วนำไปแช่ในตู้เย็น จากนั้นนำไส้ที่แข็งตัวแล้วมาคลุกกับแป้งข้าวเหนียวจนทั่ว ก่อนนำไปต้มแล้วมาคลุกกับแป้งใหม่อีกครั้ง ทำแบบนี้ซ้ำๆ จนได้ความหนาที่ต้องการแล้วจึงนำไปทำให้สุกด้วยการต้ม นึ่ง หรือทอด

         ส่วนทังหยวนมีกระบวนการทำที่ง่ายกว่าหน่อย โดยเริ่มจากการกดแป้งให้แบนเพื่อนำไปห่อไส้ที่เตรียมไว้ จากนั้นค่อยปั้นให้เป็นลูกกลมๆ หากปั้นเป็นลูกเล็กก็มักจะไม่ห่อไส้ ทำให้สุกด้วยการนำไปต้มกับน้ำและน้ำตาลทราย ไม่มีการทอดหรือนึ่งแบบขนมหยวนเซียว

         มีเรื่องเล่ากันว่าหลังหยวนซื่อข่ายสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ เขาไม่พอใจชื่อเรียกของขนมหยวนเซียวสักเท่าไร คำว่าหยวนที่ไปคล้ายกับแซ่ตัวเองน่ะไม่เป็นไรหรอก แต่คำว่าเซียวดันไปพ้องเสียงกับคำว่ากำจัดนี่สิจะให้ทนยังไงไหว ถึงกับมีคำสั่งให้เปลี่ยนชื่อเรียกขนมนี้เป็นทังหยวนตามทางใต้เลยทีเดียว หลังจากนั้นมาคนก็เริ่มสับสนระหว่างขนมสองอย่างนี้ สุดท้ายเลยเรียกแบบเหมารวมกันไป

         ในปัจจุบัน ขนมทังหยวนมีการดัดแปลงผสมผสานจนมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น มีทั้งแบบมีไส้และไม่มีไส้ ถ้ามีไส้ก็ยังมีรสชาติให้เลือกอีกว่าอยากกินรสหวาน เค็ม เปรี้ยว หรือเผ็ด วิธีการกินก็ไม่ยอมน้อยหน้า มีทั้งนำไปต้มกินกับน้ำขิงปรุงรสหวาน นำไปนึ่งแล้วกินแบบแห้ง นำไปทอดแล้วกินแบบกรอบๆ ใส่ในแกงจืดแล้วกินก็ยังมี แต่ที่นิยมที่สุดก็คงเป็นการกินแบบขนมหวานอย่างที่เราเคยเห็นกัน

    แค่ชื่อเหมือนก็เป็นขนมประจำเทศกาลได้แล้วเหรอ

         แน่นอนว่าไม่ใช่ เหตุที่ขนมชนิดนี้ถูกยกให้เป็นขนมประจำเทศกาลโคมไฟเพราะทังหยวนเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีกลมเกลียวในครอบครัว เนื่องจากชื่อของขนมชนิดนี้ออกเสียงคล้ายกับคำว่าถวนหยวน ซึ่งหมายถึงการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว การกินทังหยวนด้วยกันจึงเป็นเหมือนการขอพรให้ครอบครัวรักใคร่ปรองดองกัน นอกจากนี้ชื่อขนมยังคล้ายคำว่าหยวนหม่านที่แปลว่าสมบูรณ์พูนสุขอีกด้วย ความหมายเป็นสิริมงคลแถมยังอร่อยขนาดนี้ ก็ไม่แปลกนักหรอกที่คนมักจะกินทังหยวนชมพระจันทร์เต็มดวงในค่ำคืนเทศกาลโคมไฟกัน

         เป็นอย่างไรกันบ้าง อ่านถึงตรงนี้ท้องก็เริ่มร้องขึ้นมาบ้างแล้วใช่ไหม ถึงจะหาขนมหยวนเซียวหรือทังหยวนกินไม่ได้ แต่ขนมบัวลอยของบ้านเราก็น่าจะพอแทนกันได้อยู่นะ กินขนมไปอ่านฉางอันสิบสองชั่วยามไปก็คงได้บรรยากาศของเทศกาลโคมไฟไปอีกแบบ เผลอๆ อาจสนุกกับเนื้อเรื่องจนวางไม่ลงจนลืมกินขนมไปเลยทีเดียว ส่วนใครที่ยังไม่มีฉางอันสิบสองชั่วยามไว้ในครอบครอง ช้อปนิยายได้ ที่นี่ 

    ฉางอันสิบสองชั่วยาม (3 เล่มจบ)

    สนใจสั่งซื้อหนังสือ “ฉางอันสิบสองชั่วยาม (3 เล่มจบ)”
    • ช็อปออนไลน์กับแจ่มใส : คลิกที่นี่
    • ช็อปผ่านทาง Shopee jamsai_official: คลิกที่นี่
    • ช็อปที่ Jamclub (ซอยแซมมี่ อยู่ในซอยด้านข้างเมเจอร์ สาขาปิ่นเกล้า) หรือช้อปออนไลน์กับ Jamclub คลิกที่นี่
    • ช็อปที่ร้านหนังสื่อชั้นนำทั่วประเทศ

     

    Comments

    comments

    Continue Reading

    More in มุมชงกาแฟ

    นิยายยอดนิยม

    Facebook