• Connect with us

    Enter Books

    ซีรี่ส์ ฉางอันสิบสองชั่วยาม

    มุมชงกาแฟ

    เมื่อตัวหนังสือกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว สิ่งที่เราจะได้เห็นจาก ‘ฉางอันสิบสองชั่วยาม’ ฉบับซีรี่ส์

         เฮียเชื่อว่าตอนนี้ "ฉางอันสิบสองชั่วยาม" คงเป็นหนังสือขึ้นหิ้งของหลายๆ คน ด้วยความสนุกครบรสแถมยังอุดมไปด้วยสาระทางประวัติศาสตร์ ประหนึ่งพาเราทุกคนไปเดินเล่นที่ฉางอันในยุคราชวงศ์ถังจริงๆ ! แต่ฉางอันสิบสองชั่วยามเนี่ยเขาไม่ได้มีดีแค่ฉบับนิยายเท่านั้นนะ เพราะซีรี่ส์เองก็อลังการงานสร้างไม่แพ้กัน แม้ว่าจะมีข้อจำกัดของการแปลงตัวอักษรมาเป็นภาพ ทำให้รายละเอียดบางอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากฉบับนิยายที่เราๆ คุ้นเคยกัน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เสียอรรถรสของต้นฉบับเลยแม้แต่น้อย พูดเฉยๆ อาจจะนึกภาพไม่ออก วันนี้เฮียก็เลยคัดสรรตัวอย่างมาให้นักอ่านเห็นกันจะๆ เลยว่า เราจะได้เห็นอะไรกันบ้างจาก "ฉางอันสิบสองชั่วยาม" ฉบับซีรี่ส์

    ซีรี่ส์ ฉางอันสิบสองชั่วยาม

    ฉางอันในเทศกาลซั่งหยวน ตระการตาทั้งสิบสองชั่วยาม

         ในเมื่อชื่อเรื่องคือ “ฉางอันสิบสองชั่วยาม” ก็มั่นใจได้เลยว่าฉากหลังที่เราจะได้เห็นกันนั้นก็คือ “ฉางอัน” นั่นเอง ไม่เพียงเท่านั้น และไม่ใช่ฉางอันในวันธรรมดาๆ นะ เราจะได้เห็นฉางอันในวันเทศกาล “ซั่งหยวน” หรือเทศกาลลอยโคม อันเป็นวันที่คึกคักที่สุดในรอบปีกันแบบชัดๆ โดยไม่ต้องจินตนาการให้เหนื่อย แล้วทำไมถึงต้องเป็นวันนี้เท่านั้นน่ะเหรอ? คำตอบก็อยู่ในฉากเปิดเรื่อง ที่เป็นการจับภาพลองเทก (Long Take) ไล่ตั้งแต่เหล่าสาวๆ ในหอคณิกา พ่อค้าแม่ขายบนถนน เด็กน้อยที่วิ่งเล่นอย่างร่าเริง เรื่อยไปจนถึงขุนนางซึ่งกำลังประกาศเปิดตลาดตะวันตก ความว่า ในเทศกาลซั่งหยวนนี้ กฎห้ามสัญจรยามวิกาล (ถ้าเรียกด้วยภาษาปัจจุบันก็คือมาตรการเคอร์ฟิว ที่แม้เราจะไม่ชอบแต่ก็ต้องทำใจให้คุ้นชิน) จะไม่มีผลใดๆ เป็นการชั่วคราว หรือก็คือในเทศกาลนี้ผู้คนจะเดินเที่ยวในเมืองฉางอันได้อย่างอิสระตั้งแต่เช้ายันค่ำเลยนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ พวกเราในฐานะคนดูก็จะได้เห็นฉางอันในทุกช่วงเวลาของหนึ่งวัน ทั้งช่วงเวลาที่แสงแดดเจิดจ้าที่สุด ไปจนถึงยามค่ำคืนซึ่งประดับประดาด้วยโคมไฟ เรียกได้ว่าเป็นสิบสองชั่วยาม หรือยี่สิบสี่ชั่วโมงที่คุ้มสุดๆ เลยก็ว่าได้
         แน่นอนว่าเมื่อเราเห็นเมืองแล้ว ก็จะได้เห็นผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ที่มารวมตัวกันที่นครฉางอันแห่งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นชาวฮั่นซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ ชาวหู ซึ่งมีทั้งชนเผ่านอกด่านและชาวตะวันตก หรือแม้แต่ทาสจากโพ้นทะเลอย่างชาวเซิงฉี (แอฟริกา) ซึ่งในจุดนี้ ฉบับซีรี่ส์ก็มีการคัดเลือกนักแสดงอย่างสมบทบาทมากๆ

    ซีรี่ส์ ฉางอันสิบสองชั่วยาม

          อีกสิ่งหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยเมื่อดูซีรี่ส์แนวย้อนยุคก็คือเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ใน “ฉางอันสิบสองชั่วยาม” นี้ เราจะได้เห็นผู้คนหลากหลายชนชั้นและอาชีพ คนเหล่านี้ก็มีวิธีการแต่งกายที่แตกต่างกัน อย่างชาวฮั่นก็มักจะสวมชุดคลุมยาว ในขณะที่ชาวทูเจวี๋ยซึ่งมาจากทุ่งหญ้านั้นจะสวมชุดขนสัตว์ นอกจากนี้ ยังมีสาวๆ ที่ต้องพิถีพิถันเรื่องการแต่งตัวเป็นพิเศษ ซึ่งเฮียก็ได้พูดถึงอย่างละเอียดแล้วในบทความ ความงามแห่งฉางอัน ฉบับฉางอันสิบสองชั่วยาม ใครที่สนใจเรื่องแฟชั่นของสาวๆ ยุคต้าถังก็ตามไปอ่านกันได้ หรือถ้าใครอ่านแล้วอ่านอีก เฮียก็ขอมอบตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้เฮียให้เลย!

    การทำงานสุดลุ้นระทึกของหน่วย “จิ้งอันซือ”

         หน่วยงานสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ “จิ้งอันซือ” หรือกองพิทักษ์นครา ที่ต้องปกป้องฉางอันให้พ้นจากแผนร้ายของชาวทูเจวี๋ย การปฏิบัติการของจิ้งอันซือนั้นไม่ได้อาศัยแค่การออกคำสั่งให้หน่วยทหารปฏิบัติตามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการคาดเดาเจตนาของผู้ก่อการร้าย การวางแผนรับมือ และการปรับแผนการไปตามสถานการณ์ ภายในศูนย์บัญชาการของจิ้งอันซือจึงประกอบไปด้วยเอกสารมากมาย และยังมีเจ้าหน้าที่ที่ต้องสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลกันจนหัวหมุน เรียกได้ว่าสถานการณ์ภายในที่ทำการของจิ้งอันซือนั้นก็วุ่นวายไม่แพ้ทหารที่ปฏิบัติการอยู่ด้านนอกเลย

     

    นาฬิกาน้ำ ซีรี่ส์ ฉางอันสิบสองชั่วยาม

    นาฬิกาน้ำ    

     ภายใต้สถานการณ์อันกดดันและการทำงานแข่งกับเวลา ในศูนย์บัญชาการของจิ้งอันซือก็มี “นาฬิกาน้ำ” ไว้คอยเตือนว่าเสียเวลาไปมากเท่าไรแล้ว นาฬิกาน้ำนี้มีลักษณะเป็นภาชนะดินเผาปากแคบที่ปล่อยให้น้ำไหลลงสู่ภาชนะรองรับด้านล่างทีละน้อย และความพิเศษของฉบับซีรี่ส์ก็คือนอกจากจะมีนาฬิกาน้ำแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่หน้านาฬิกา คอยขานเวลาบอกด้วยว่าถึงยามไหนแล้ว เพราะคงไม่ใช่คนดูทุกคนที่จะอ่านนาฬิกาน้ำเป็น ถือว่าเป็นการปรับบทที่รอบคอบและเข้าอกเข้าใจผู้ชมอย่างมาก ใครที่สนใจอยากดูซีรี่ส์ไม่จำเป็นต้องกังวลเลยว่าจะดูแล้วไม่เข้าใจ
         นอกจากเอกสารเป็นตั้งๆ และนาฬิกาน้ำแล้ว จะขาดพระเอกของจิ้งอันซืออย่าง “โต๊ะทราย” ซึ่งเป็นโต๊ะจำลองฉางอันทั้งเมืองไปไม่ได้ ในฉบับซีรี่ส์นั้น โต๊ะที่ “หลี่ปี้” ใช้วิเคราะห์และติดตามสถานการณ์การไล่ล่าผู้ก่อการร้ายในฉางอันนั้นไม่ใช่โต๊ะเดี่ยวๆ แต่ใช้พื้นที่ของห้องทั้งห้องแทนเมืองฉางอัน ตั้งโต๊ะแยกกันโดยให้พื้นที่ว่างแทนถนนทั้ง 108 สาย ส่วนบนโต๊ะแต่ละตัวนั้นก็ประกอบไปด้วยสิ่งปลูกสร้างใน “ฟาง” หรือเขตย่อยต่างๆ ของฉางอัน นอกจากจะเป็นแบบจำลองที่ยิ่งใหญ่อลังการมากแล้ว ยังมีความละเอียดสูงมากอีกด้วย

    หอสังเกตการณ์ ซีรี่ส์ฉางอันสิบสองชั่วยาม

    หอสังเกตการณ์

         หลังจากวิเคราะห์ความเป็นไปได้ต่างๆ ก็ถึงเวลาต้องถ่ายทอดคำสั่งให้หน่วยทหารไปตามจับผู้ร้าย สิ่งที่มีบทบาทที่สุดในกระบวนการนี้ก็คือ “หอสังเกตการณ์” ซึ่งจะใช้สัญญาณธงควบคู่กับเสียงกลองในการถ่ายทอดคำสั่ง รวมถึงส่งข่าวต่างๆ จากแต่ละฟางกลับมาที่จิ้งอันซือได้อย่างทันท่วงที หากเป็นเวลากลางคืนก็จะใช้ความมืดและความสว่างของแสงไฟแทนรหัสสื่อสาร ส่วนในฉบับซีรี่ส์นั้น ปรับจากการใช้ธงเป็นการแปรรหัสตามป้ายสีแทน และจะมีการถอดแปลออกมาเป็นตัวอักษรให้ผู้ชมเข้าใจได้ง่ายๆ อีกด้วย
    หากให้สรุปอย่างคร่าวๆ การทำงานของจิ้งอันซือที่เราจะได้เห็นกันจากซีรี่ส์ “ฉางอันสิบสองชั่วยาม” ก็คือระบบการทำงานของราชการที่รวดเร็วทันใจแบบไม่ยอมเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์แม้แต่ครึ่งก้านธูปนั่นเอง!

         ความพีคของซีรี่ส์ “ฉางอันสิบสองชั่วยาม” ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้นะ ยังมีฉากแอ็กชันไล่ล่าผู้ร้ายที่มันทะลุจอ รวมถึงฉากสวยๆ งามๆ อีกมากที่รอให้คอนิยายได้ไปติดตามกัน เฮียบอกเลยว่า ไม่ว่าจะเป็นฉบับนิยายหรือซีรี่ส์ ก็ล้วนแต่มีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง ต้องลองมาสัมผัสเองเท่านั้นถึงจะรู้

    หนังสือ ฉางอันสิบสองชั่วยาม

    สนใจสั่งซื้อ “ฉางอันสิบสองชั่วยาม” ฉบับนิยายผ่านทางออนไลน์ คลิกที่นี่
    หรือช็อปออนไลน์กับ Jamclub คลิกที่นี่

    E-book ฉางอันสิบสองชั่วยาม

    สำหรับสาย e-book สามารถจับจองเป็นเจ้าของได้ที่
    OOKBEE / Meb / Fictionlog / Naiinpann / SE-ED / Hytexts /comico

    Comments

    comments

    Continue Reading

    More in มุมชงกาแฟ

    นิยายยอดนิยม

    Facebook