• Connect with us

    Enter Books

    บทความ

    7 เรื่องน่ารู้จากเมนูเส้น by ยอดเชฟเทพนักปรุง

    #ยอดเชฟเทพนักปรุง #นิยายแปล #นิยายเกาหลี #มาสเตอร์เชฟ

     

    ช่วงที่หลายคนกักตัวอยู่บ้าน ได้ถือกำเนิดว่าที่มาสเตอร์เชฟขึ้นในเกือบทุกครัวเรือน เล่นเอาสะเทือนวงการการทำอาหารเลยทีเดียว งานนี้ถ้ากินแล้วอร่อย ก็เตรียมตัวไปสมัครแข่งทำอาหารได้เลย แต่ถ้าทำแล้วกินไม่ได้ ก็ตัวใครตัวมันนะ หรือถ้ายังอยากเอาดีด้านนี้ ก็ลองเรียนรู้วิชาจาก ‘ยอดเชฟเทพนักปรุง’ ดูมั้ยล่ะ นิยายแปลเรื่องนี้น่ะ การันตีว่าสอดแทรกเคล็ดวิชาการทำอาหารและทักษะขั้นเทพเอาไว้เพียบ

    โดย ‘ยอดเชฟเทพนักปรุง’ ถือเป็นนิยายเกาหลีเรื่องดังที่ไม่ว่าใครก็พูดถึงในช่วงนี้ อ่านแล้วอร่อยเหาะ เพราะเนื้อหาแต่ละเล่มจะพาเราไปพบกับเมนูอาหารน่ากินมากมาย คือไม่ต้องเห็นภาพ อ่านแค่คำบรรยาย ก็ท้องร้องแล้ว นอกจากนี้อย่างที่บอกไป อ่านแล้วยังได้แรงบันดาลใจในการจะเป็นยอดเชฟเทพนักปรุงที่เก่งด้วย และการจะเป็นยอดเชฟที่ดี ก็ต้องรู้จักเมนูอาหารที่หลากหลาย ครั้งนี้เฮียได้รับแรงบันดาลใจจากปก ‘ยอดเชฟเทพนักปรุง’ เล่มที่ 5 ทำให้พลอยนึกถึงบรรดาเมนูสารพัดเส้นที่เคยกิน จึงจะขอหยิบยกเรื่องน่ารู้จากเมนูเส้นมาฝากกัน

    เราอาจมีเมนูเส้นให้กินกันมานานแล้วกว่า 4,000 ปี!

    4,000 ปี! น่าเหลือเชื่อจริงๆ ว่ามนุษยชาติเรากินเมนูเส้นมานานขนาดนี้แล้ว ซึ่งชาติที่ค้นพบก็จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากชาติที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมอาหารถึงขีดสุดชาติหนึ่ง และมีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างประเทศจีน เพราะมีการขุดค้นเจอชามบะหมี่ที่นั่น สงสัยจะมีเชฟสักคนอยากปั้นแป้งเป็นมังกรถวายจักรพรรดิ แต่ออกมายาวไปกลายเป็นบะหมี่ซะงั้น

     

    ก๋วยเตี๋ยวมีมานานนมเกินกว่าที่คิด

    อย่างที่รู้กันดีว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารของคนจีน ก่อนกินจะต้องลวกให้สุกในน้ำเดือด จากนั้นนำมาปรุงรส เสิร์ฟได้ทั้งแบบแห้งและแบบน้ำ แล้วรู้หรือไม่ว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวน่ะ เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเลยนะ โดยช่วงนั้นถือเป็นช่วงที่ไทยมีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากมาย และชาวจีนที่เดินทางมาด้วยเรือก็กินก๋วยเตี๋ยวกัน จึงทำให้คนไทยในสมัยนั้นได้รู้จักและนำมาทำเมนูก๋วยเตี๋ยวกินกัน ก่อนจะเป็นที่แพร่หลายจนกลายเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง นอกจากนี้ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีนโยบายรัฐนิยมที่สนับสนุนให้ประชาชนบริโภคก๋วยเตี๋ยว ซึ่งจอมพล ป. ได้เล็งเห็นว่าหากคนไทยกินก๋วยเตี๋ยวกันบ่อยๆ จะถือเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจของชาติในตอนนั้น เพื่อให้เงินหมุนเวียนในประเทศ แบบนี้เรียกว่า ‘ก๋วยเตี๋ยวกู้ชาติ’ ได้เลย

     

    ‘สปาเก็ตตี้’ คือหนึ่งในสารพัดเส้นของ ‘พาสต้า’

    เอ้า เหล่ายอดเชฟทั้งหลายรู้หรือไม่ว่าสปาเก็ตตี้เป็นเพียงชื่อประเภทของเส้นของอาหารที่เรียกว่าพาสต้าเท่านั้น เหมือนกับที่เรามีก๋วยเตี๋ยวแล้วเรียกเส้นก๋วยเตี๋ยวตามลักษณะอย่างเส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่นั่นแหละ ซึ่งเส้นของพาสต้าก็มีหลากหลายแบบ แถมยังไม่จำกัดว่าต้องมีลักษณะเป็นเส้นด้วย ยกตัวอย่าง ‘ฟาร์ฟาเล่’ ที่รูปร่างเหมือนโบ หรือ ‘มักกะโรนี’ ที่เหมือนหลอดกลมสั้นงอๆ ใครเป็นตัวจริงเรื่องเส้นต้องหาทางลองให้ครบทุกแบบนะ

     

    ทำความรู้จักกับ อัลเดนเต้

    ปกติเรามักจะคุ้นชินกับการกินพาสต้าแบบเส้นนิ่มๆ แต่ถ้าอยากได้อรรถรสในการกินตามแบบฉบับอิตาเลียนขนานแท้ ต้องกินเส้นแบบที่ลวกยังไม่สุกทั้งหมด ซึ่งเราจะเรียกเส้นแบบนี้ว่า ‘อัลเดนเต้’ (al dente) โดยคนอิตาลีจะถือว่าการลวกเส้นแบบนี้คือระดับที่พอดีแล้ว เพราะหลังจากนำไปลงกระทะผัดกับซอสต่างๆ ต่อ หรือแค่ราดน้ำซอสลงไปก่อนกิน เส้นก็จะสุกขึ้นอีกเล็กน้อย เวลาเรากินเมนูพาสต้าแบบอัลเดนเต้ก็จะได้กินเส้นที่มีความกรุบๆ ไม่นิ่มจนเกินไปด้วย ถือว่าอร่อยไปอีกแบบ ใครที่อยากเป็นยอดเชฟเทพนักปรุง ก็ต้องลองทำเมนูนี้ดูนะ สำหรับเคล็ดลับง่ายๆ ก็ให้ลวกเส้นโดยใช้เวลาน้อยกว่าที่บนซองระบุไว้ว่าให้ต้มกี่นาทีเท่านั้นเอง

     

    ทำไมถึงเรียกว่า ‘ขนมจีน’

    ขนมจีนไม่ใช่ของหวาน แต่เป็นของคาว แถมจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้เป็นอาหารที่มาจากประเทศจีน เพราะขนมจีนน่ะเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ พวกเค้าจะเรียกอาหารชนิดนี้ว่า ‘คนอมจิน’ โดยคำว่า ‘คนอม’ หมายถึงการจับให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่วนคำว่า ‘จิน’ หมายถึง นำไปทำให้สุกโดยการหุงต้ม อย่างที่เราเห็นขั้นตอนการทำที่นำแป้งขาวๆ มาหยอดลงในน้ำร้อนเดือดๆ แล้วคีบขึ้นมาเป็นแพ แน่นอนว่าความอร่อยของคนอมจินได้ถูกส่งต่อไปยังประเทศใกล้ๆ พอมาถึงไทย ชื่อเลยเพี้ยนกลายเป็นขนมจีนอย่างที่เราเรียกกันในทุกวันนี้ และมีเมนูจากเส้นขนมจีนมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็นขนมจีนน้ำยากะทิ หรือขนมจีนแกงไตปลา เป็นต้น

     

    บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกิดขึ้นครั้งแรกที่ญี่ปุ่น

    พูดถึงเมนูเส้น จะขาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้อย่างไร นี่มันระดับพระผู้ช่วยให้รอดยามสิ้นเดือนของใครต่อใครเลยนะ และแน่นอนว่ามันถือกำเนิดมาด้วยเหตุผลนั้น เพราะช่วงเวลาดังกล่าวญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม ‘โมโมฟุโกะ อันโดะ’ จึงได้คิดค้นบะหมี่พกพาที่แค่ต้มน้ำก็กินได้ออกมาเพื่อช่วยบรรเทาความหิวโหยของผู้คน จนเป็นต้นกำเนิดของบริษัทนิสชิน ฟู้ดส์ ที่เรารู้จักกันนั่นเอง และในปัจจุบันนี้วันหนึ่งๆ อาจมีการกินบะหมึ่กึ่งสำเร็จรูปนับร้อยล้านซอง เพราะไม่ใช่แค่มีราคาถูก แต่มันอร่อยด้วยแหละ เรียกว่าใครก็ทำอาหารเป็น กลายเป็นยอดเชฟได้ เพียงแค่ใส่น้ำร้อน!

    แล้วบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้าแรกในไทยคือ?

    ในประเทศไทย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้าแรกที่เข้ามาราวปี พ.ศ.2514-2515 ก็คือ ‘ซันวา’ ก่อนที่จะเกิดยี่ห้อมาม่า ไวไว ยำยำ และอีกสารพัดตามมา ซึ่งคนไทยจะติดปากเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่ามาม่าไปซะแทบทั้งหมด ใครที่อยากเป็นยอดเชฟเทพนักปรุง ลองหยิบเอาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมารังสรรค์ทำเมนูแปลกๆ ก็ดูน่าสนใจไม่น้อยนะ

     

    ยังมีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเมนูอาหารอีกมากมาย ถ้าอ่านนิยายแปลเรื่อง ‘ยอดเชฟเทพนักปรุง’ แล้วเจอเมนูไหนน่าสนใจ ก็สามารถไปค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มกันได้ เพราะอรรถรสของนิยายเกาหลีเรื่องนี้ก็คือการที่เราได้ร่วมเรียนรู้การทำอาหารไปพร้อมกับพระเอกของเรื่อง และจะได้ความรู้มากกว่าเดิมถ้าเราเติมอาหารสมองด้วยการหาที่มาที่ไปของแต่ละเมนูไงล่ะ ที่นี้ก็เตรียมตัวไปสมัครแข่งมาสเตอร์เชฟแบบขั้นเทพได้เลย นอกจากจะเจนจัดด้านฝีไม้ลายมือแล้ว ยังมีข้อมูลเรื่องอาหารแบบตัวจริงเสียงจริงด้วยนะเออ

     

    นิยายแปลเกาหลีเรื่อง ‘ยอดเชฟเทพนักปรุง’ มีให้ซื้อหามาอ่านแล้ววันนี้!

    >>> https://bit.ly/2LJIuhK <<<

     

    Comments

    comments

    Continue Reading

    More in บทความ

    นิยายยอดนิยม

    Facebook