• Connect with us

    Enter Books

    หนังสือเอ็นเธอร์

    หลากเกร็ดความรู้จาก “สยบฟ้าพิชิตปฐพี”

    ความจริงแล้ว การอ่านนิยายแปลจีนกำลังภายใน มันคือการพาตัวเองย้อนกลับไปสู่จีนในยุคโบราณ อาจจะแบ่งแยกสายทางเดินออกไปเป็นสองทาง ทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์เหาะเหินเดินอากาศ ไม่ก็สายคลาสสิคจริงจังกับเรื่องราวที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ใช้ความสามารถที่ผ่านการฝึกปรือมาประมือกันล้วนๆ

    ซึ่งไม่ว่าจะเลือกเดินทางไหน ต่างก็คือนิยายจีนที่คนหลงใหลกำลังภายในไม่เคยพลาดที่อ่านและติดตาม

    หากแต่ระหว่างบรรทัด มักมีจุดเล็กจุดน้อยให้สงสัย คำบางคำ ธรรมเนียมบางธรรมเนียม หาใช่สิ่งปกติในสังคมไทย จำเป็นอยู่บ้างที่ต้องศึกษาจากเชิงอรรถ ซึ่งหากได้ติดตาม “สยบฟ้าพิชิตปฐพี” มาได้ประมาณหนึ่ง ก็จะพบเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องราวและบทสนทนาขึ้นได้อีกมากโข

    ได้เวลาที่หยิบบางส่วนเหล่านั้นรวบรวมมาฝากกัน

     

    ละครชวนหัว

    หนิงเชวียดึงเฉินผีผีมายืนข้างๆ ก่อนกระแอมสองสามทีก่อนจะเอ่ยว่า “วันนี้พวกเรามาเล่นละครชวนหัวให้ผู้อื่นชมกัน” เฉินผีผีแสร้งถามอย่างตื่นเต้น “ละครชวนหัวคืออะไร”

    ละครชวนหัว มาจากคำว่า เซี่ยงเซิง เป็นศิลปะการแสดงตลกของจีน คล้ายการเล่นจำอวดของไทย อาศัยทักษะ 4 อย่าง ได้แก่ การพูด การเลียนแบบ การหยอกล้อ และการร้องเพลง สามารถแบ่งการแสดงออกเป็นแบบพูดคนเดียว แบบสนทนาโต้ตอบ และแบบละครสั้น โดยการแสดงแบบสนทนาโต้ตอบได้รับความนิยมมากที่สุด เริ่มต้นในสมัยราชวงศ์ชิง

     

    เคอจวี่

    ในประเทศจีนยุคโบราณนั้น มีการสอบเลื่อนขั้นอยู่ และบางตัวละครก็อาจจะเปรยถึงเรื่องนี้อยู่บ้าง จึงน่าจะหยิบเรื่องเคอจวี่มาสรุปไว้สักหน่อย

    คือ ระบบการสอบขุนนาในสมัยโบราณของจีน โดยสอบเป็นรอบเลื่อนขึ้นทีละชั้น รอบแรก เป็นระดับท้องถิ่น (อำเภอหรือจังหวัด) เรียกว่าการสอบถงซื่อ ผู้สอบผ่านได้เป็นซิ่วไฉ มีสิทธิ์เข้าร่วมสอบรอบต่อไปในระดับภูมิภาค (เขตหรือมณฑล) เรียกการสอบเซียงซื่อ หากสอบผ่านจะได้เป็นจวี่เหริน แล้วจึงสามารถเข้ามาสอบระดับฮุ่ยซื่อที่เมืองหลวงเพื่อขึ้นเป็นจิ้นซื่อ ได้บรรจุเข้ารับราชการ และจะได้เข้าสอบหน้าพระที่นั่งคือการสอบเตี้ยนซื่อ เพื่อคัดเป็นบัณฑิตเอกสามชั้น ซึ่งบัณฑิตเอกขั้นหนึ่งมีสามคน เรียงตามลำดับคะแนนจากมากที่สุด ได้แก่ จ้วงหยวน (จอหงวน) ปั่นเหยี่ยน และทั่นฮวา

     

    อจล

    ครั้งหนึ่ง หนิงเชวียได้พบเจอกับหลวงจีนกวนไห่ผู้ยกมือทำท่าเลียนอย่างรูปอจล น่าสนใจว่า “อจล” นั้นคืออะไร

    อจล (อ่านว่า อะจะละ) หมายถึงไม่หวั่นไหว ไม่คลอนแคลน อจลหมิงหวัง หรือพระอารยอจลนาถ คือ เทพผู้พิทักษ์ศาสนาพุทธ เป็นการสำแดงภาคดุร้ายของวิทยราชตามหลักความเชื่อของฝ่ายวัชรยาน สั่งสอนธรรมด้วยลักษณะน่าสะพรึงกลัวเพื่อกระตุ้นให้ผู้กระทำผิดคิดชั่วกลับใจ รูปเคารพของอจลหมิงหวังในภาพวาดหรือรูปปั้น เป็นรูปเทพถือดาบซึ่งมีปลายด้ามเป็นวัชระในมือขวา ใช้ปราบสิ่งชั่วร้าย มือซ้ายถือเชือกสำหรับจับมัดสิ่งชั่วร้าย ด้านหลังล้อมรอบด้วยเปลวไฟ และมักอยู่ในท่ายืนหรือนั่งบนฐานหิน แสดงถึงความหนักแน่นมั่นคงในธรรม ทรงผมมัดเป็นเปียเจ็ดปมพาดวางบนไหล่ซ้ายเป็นสัญลักษณ์ของผู้รับใช้พระพุทธเจ้า มุมปากมีเขี้ยวสองข้าง ข้างหนึ่งชี้ลงดิน ข้างหนึ่งชี้ขึ้นฟ้า

     

    อิฐทอง

    ครั้งหนึ่ง ในช่วงฤดูเหมันต์ จักรพรรดิทอดพระเนตรภาพแจกันดอกเหมยบนอิฐทองก้อนหนึ่ง น่าสนใจว่า “อิฐทอง” นั้นเป็นเยี่ยงใด

    อิฐทอง เป็นก้อนอิฐที่ส้รางเพื่อใช้ในวังหลวงโดยเฉพาะ มีบันทึกว่า การผลิตอิฐทองก้อนหนึ่งต้องใช้เวลา 720 วัน วิธีเผาสลับซับซ้อน เช่น การเตรียมดินต้องผ่าน 7 ขั้นตอน ได้แก่ ขุด ย้าย ตาก เคาะ ล้าง โม่ และร่อน วัตถุดิบต้องเป็นดินเหนียวที่ขุดจากทะเลสาบไท่หู ใช้เวลาตากแดด 1 ปี ก่อนนำมาแช่น้ำ แล้วให้วัวเหยียบอัดจนกลายเป็นก้อนดินเหนียวแน่น จากนั้นใส่ในเบ้าหลอม เอาแผ่นเรียบคลุมทับ ทิ้งไว้ไม่ให้โดนแดดประมาณ​ 7 เดือน เมื่ออิฐแห้งเรียบร้อย ถึงจะส่งไปเผาโดยใช้หญ้าพิเศษ อบ 1 เดือน เผาไม้ธรรมดา 2 เดือน สุดท้าย ใช้กิ่งสนเผาอีก 40 วัน จึงจะออกจากเตา นำมาแช่ในน้ำมันต้นอู๋ถงจนมีสีเป็นมันวาว จึงเสร็จสิ้นกระบวนการ

     

    ไฟภูติ

    ครั้งหนึ่ง หนิงเชวียเหลือบไปเห็นรอยกระบี่บนผนังและเพดานหินเรืองแสงอยู่ จึงคิดในใจไปว่านั่นอาจเป็นไฟภูติ แล้วมันคืออะไรกันล่ะ?

    ไฟภูติ หมายถึง ลูกไฟจากก๊าซมีเทนที่ลุกไหม้ขึ้นในอากาศ ทำให้เห็นเป็นแสงวับแวมในเวลากลางคืน โดยก๊าซมีเทนเกิดจากซากเน่าเปื่อยผุพังของสารอินทรีย์ ในสมัยโบราณ คนยังไม่เข้าใจหลักการนี้ จึงคิดว่าเป็นดวงไฟวิญญาณ คนไทยเชื่อว่าเป็นผีกระสือหรือเป็นดวงตาของผีโผง

     

    ยังมีอีกเกร็ดความรู้อีกมากมาย ที่หาอ่านได้จากเชิงอรรถที่ปรากฏอยู่ด้านล่างของบางหน้าในนิยายแปลจีนกำลังภายในที่อ่านสนุก ผลงานเขียนโดย Mao Ni และแปลโดย คุณมดแดง มีทั้งหมด 40 เล่มจบ ฝากแฟนๆ เอ็นเธอร์บุ๊คส์ติดตามกันไปยาวๆ

    Comments

    comments

    Continue Reading

    More in หนังสือเอ็นเธอร์

    นิยายยอดนิยม

    Facebook