• Connect with us

    Enter Books

    ทดลองอ่าน

    ทดลองอ่าน รหัสลับเสวียนจีถู บทที่ 3

    “มังกรวารีทะเลใต้…กับทัพงูบุกนครหลวง?”

    “ทูลฝ่าบาท กระหม่อมจำได้ว่าใน ‘ตำราแถลงอักษร’* บันทึกว่า ‘มังกร เจ้าแห่งสัตว์เลื้อยคลานมีเกล็ด ชุนเฟิน** ทะยานฟ้า ชิวเฟิน*** ดิ่งสมุทร’ สัตว์เลื้อยคลานมีเกล็ดในที่นี้หมายถึงประเภทงูน้ำ ในตำราแถลงอักษรยังกล่าวไว้อีกว่า ‘มังกรวารี (เจียว) จัดเป็นประเภทมังกร ในบรรดาสัตว์ทะเลทั้งสามพันหกร้อย มังกรวารีเป็นผู้นำ สามารถนำฝูงปลาเหินทะยาน ลอบดักในน้ำมังกรวารียังแหวกไป’ ดังนั้นมังกรวารีกับงูเดิมมีกำเนิดร่วมกัน หาใช่ความเห็นของกระหม่อมเพียงผู้เดียว นับแต่โบราณมาล้วนอธิบายอ้างไว้เช่นนี้”

    จักรพรรดิขมวดพระขนงแน่น ไม่รับสั่งประการใด

    หลี่ซู่จึงกราบทูลสืบต่อ “อันมังกรวารีนั้นแม้เป็นสัตว์วิเศษ ทว่ามักสร้างพายุก่อให้เกิดคลื่น อาละวาดพันหลี่ เป็นภัยต่อประชา จึงถูกเรียกว่ามังกรร้าย มังกรร้ายจำเป็นต้องพบพายุฝนสายฟ้าฟาดคำราม หนุนส่งทะยานถึงฟ้าชั้นเก้า จึงจะผ่านพ้นภัย แปลงร่างเป็นมังกรแท้ได้ กระหม่อมเข้าใจว่าที่ทะเลใต้จับได้ต้องเป็นมังกรร้ายนี้อย่างแน่นอน กระหม่อมจำได้ เมื่อปลายรัชศกเจินหยวน ที่แม่น้ำจือเจียงแห่งซีชวนก็เคยจับมังกรยักษ์ประเภทนี้ได้ตัวหนึ่ง ผู้ตรวจการซีชวนเหวยเกาผู้มีอำนาจบัญชาการในตอนนั้นคิดถวายสิ่งมงคลต่อราชสำนัก จัดตั้งบนถนนให้ราษฎรชมดูก่อนสามวัน คิดไม่ถึงว่ามังกรวารีนั้นจะถูกแดดเผาจนแห้งตายเสียก่อน”

    จักรพรรดิคล้ายคิดตรัสอันใดแต่ชะงักไว้ แววคล้ำบนพระพักตร์ยิ่งหนักหนากว่าเดิม

    หลี่ซู่กราบทูลต่อ “ในเวลานั้นกระหม่อมพอดีอยู่ที่ซีชวน จำได้ว่ายังเป็นช่วงปลายฤดูร้อนย่างต้นฤดูใบไม้ร่วง หลังจากมังกรวารีถูกแดดเผา ในไร่นาป่าทุ่ง แม่น้ำบึงหนองคลองคูของอี้โจวทุกหนแห่งล้วนพบงูตาย คูน้ำบางแห่งตื้นมากถูกซากงูถมเต็ม”

    กัวชงที่ด้านข้างฟังจนขนลุกหวาดหวั่น หลุดปากโพล่งขึ้นว่า “ถึงกับมีเรื่องเช่นนี้”

    “ใช่แล้ว!” หลี่ซู่ฉวยจังหวะทูลจักรพรรดิต่อ “ดังนั้นกระหม่อมจึงระบุว่าทัพงูบุกนครหลวงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าเกี่ยวข้องกับมังกรวารีทะเลใต้ ในเมื่อมังกรร้ายเป็นสัตว์วิเศษ ย่อมไม่ยินยอมถูกจับ จึงสั่งงูที่อยู่ในห้วงจำศีลออกก่อความวุ่นวายในนครหลวงเพื่อเตือนห้าม”

    จักรพรรดิเปล่งเสียงฮึคราหนึ่ง ถามขึ้น “เพื่อเตือนห้าม? ห้ามอันใด ห้ามผู้ใด”

    หลี่ซู่ก้มหน้าไม่พูดประการใด กล่าวมาถึงเรื่องนี้แล้ว ด้วยพระปรีชาสามารถของจักรพรรดิย่อมฟังนัยบีบคั้นออกแน่นอน

    ความเงียบในตำหนักเหยียนอิงคงอยู่นานมาก นานยิ่งนัก

    ในที่สุดก็ทรงถอนพระปัสสาสะคราหนึ่ง “เรารู้สึกว่าเรื่องเทวดาผีสาง ยังคงยินยอมเชื่อว่ามี มิอาจเชื่อว่าไร้ พวกท่านทั้งสองเห็นเป็นเช่นไร”

    ขุนนางทั้งสองร้องพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย “ฝ่าบาททรงพระปรีชา”

    จักรพรรดิรับสั่งถามอีก “ในเมื่อโหรหลวงหลี่เห็นว่าทัพงูบุกนครหลวงอาจเป็นฟ้าเตือนห้าม เช่นนี้แล้วท่านมีวิธีแก้ไขใด”

    * ‘ตำราแถลงอักษร (ซัวเหวินเจี่ยจื้อ)’ เป็นพจนานุกรมที่วิเคราะห์รูปอักษร ที่มาและวิวัฒนาการ รวมทั้งความหมายและเสียงอ่านของอักษรจีนอย่างเป็นระบบเล่มแรกในประวัติศาสตร์ เขียนโดยสวี่เจิ้นในสมัยฮั่นตะวันออก รวบรวมอักษรไว้ทั้งหมด 9,353 ตัว

    ** ชุนเฟิน เป็นหนึ่งในยี่สิบสี่ฤดูลักษณ์ของชาวจีน หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากันในฤดูใบไม้ผลิ ตรงกับช่วงวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม

    *** ชิวเฟิน เป็นหนึ่งในยี่สิบสี่ฤดูลักษณ์ของชาวจีน หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากันในฤดูใบไม้ร่วง ตรงกับช่วงวันที่ 22 23 หรือ 24 กันยายน

    Comments

    comments

    Continue Reading

    More in ทดลองอ่าน

    นิยายยอดนิยม

    Facebook