• Connect with us

    Enter Books

    ทดลองอ่าน

    ทดลองอ่านนิยาย เพลงกลอนคลั่งยุทธ์ บทที่ 2

    เขาชิงเฉิงเป็นแหล่งกำเนิดลัทธิเต๋า ลือกันว่าสมัยโบราณจักรพรรดิเซวียนหยวนเคยมาถามทางที่นี่ ยุคฮั่นตะวันออก นักพรตจางหลิงซึ่งภายหลังได้รับการยกย่องให้เป็นผู้วิเศษจางปักหลักอยู่ที่เขาชิงเฉิงก่อนตั้งลัทธิห้าทะนานข้าวสาร บุกเบิกรากฐานวิชาบำเพ็ญลูกกลอน ยุคสมัยหลังจากนั้นล้วนมียอดคนเข้ามาบำเพ็ญเต๋าในเขาและเผยแผ่ลัทธิ สร้างวัดวาอารามบนทำเลทอง สืบทอดกันเรื่อยมาตลอดหลายปีมิขาดสาย

    วิชาหมัดและกระบี่แรกเริ่มของสำนักชิงเฉิงก็เป็นวิทยายุทธ์ลัทธิเต๋า ฝึกฝนเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแกร่งและต่อต้านโจรชั่ว แต่ต่อมาค่อยๆ พัฒนาและกลั่นกรองรวมเป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งยังเยื้องย่างเข้าสู่เส้นทางต่อสู้อันร้อนแรงซึ่งไม่สอดคล้องกับการบำเพ็ญเต๋าเพื่อสุขภาพ นักพรตก็ค่อยๆ ไม่ฝึกฝนอีก แต่มีศิษย์ทางโลกศึกษารับช่วงต่อ จนถึงร้อยกว่าปีก่อน สำนักกระบี่และอารามเต๋าแบ่งแยกกันอย่างเป็นทางการ จึงมิได้ฝึกกระบี่และรับศิษย์ในอารามซั่งชิงที่ภูเขาด้านหน้าอีก ส่วนภูเขาด้านหลังเขาชิงเฉิงได้สร้างเรือนเสวียนเหมินเพื่อเป็นฐานควบคุมดูแล ซ้ำยังสร้างบ้านพักสิบกว่าหลังไว้หลังเรือนใหญ่ ใช้เป็นที่พักอาศัยของลูกศิษย์ คนในครอบครัวและคนงาน

    จางเผิงและเยียนเสี่ยวลิ่วเดินไปยังทิศตะวันตกตามทางช่องเขา จนถึงซุ้มประตูเขา* ทางด้านหลังจึงทำความเคารพนักพรตน้อยผู้เฝ้าดูแล แล้วค่อยเดินขึ้นเขาไปต่อ

    ลึกเข้าไปหลังซุ้มประตูเขาคือชุมชนเล็กๆ นามว่าตำบลเว่ยเจียง* ชาวบ้านและมือกระบี่ชิงเฉิงไปมาหาสู่กันบ่อยครั้ง สำนักชิงเฉิงซื้อหาข้าวของเครื่องใช้ที่ตำบลนี้อยู่หลายหน และว่าจ้างคนในพื้นที่เป็นแรงงานชั่วคราวอยู่เสมอ แต่วันนี้จางเผิงไม่อยากสร้างความแตกตื่นแก่คนในตำบล จึงไม่เดินผ่านตำบลเว่ยเจียง เลือกพาเยียนเสี่ยวลิ่วเดินไปทางป่าเขาเล็กๆ ทิศตะวันออก มุ่งหน้าขึ้นเหนือไปสู่ภูเขาด้านหลัง

    ทักษะฝีเท้าของคนทั้งสองราวกับค่าง ทะยานขึ้นไปบนช่องเขาที่เปียกลื่น เพียงครู่ก็ข้ามเนินเขาไปแล้วลูกหนึ่ง หลังคาเรือนเสวียนเหมินที่ประดับด้วยกระเบื้องสีครามรวมถึงลักษณะอันน่าเกรงขามปรากฏขึ้นเบื้องหน้าโดยพลัน

    เมื่อถึงหน้าประตู คนทั้งสองให้เกียรติอาจารย์ ปลดกระบี่ที่ข้างเอวออก สองมือถือฝักกระบี่เอาไว้แล้วจึงเข้าประตูไป

    ตลอดทางที่ผ่านลานฝึกและเฉลียงด้านหน้า มีศิษยานุศิษย์หลายคนกำลังซ่อมแซมอุปกรณ์ฝึกซ้อม พอเห็นสหายร่วมสำนักทั้งสองกลับมา พวกมันต่างเข้ามาสอบถามด้วยความตื่นเต้น แต่คนทั้งสองรู้จักธรรมเนียม จึงไม่เอ่ยวาจา ก้าวเท้าไม่หยุด ถือกระบี่เดินต่อไปยังกึ่งกลางโถง

    โถงกุยหยวน สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งสำนักกระบี่ชิงเฉิง

    โถงแห่งนี้เป็นเช่นเรือนเสวียนเหมินทั้งหลัง สิ่งก่อสร้างเรียบง่ายไม่หรูหรา ปัดกวาดจนไม่มีแม้ฝุ่นผง โต๊ะเก้าอี้และของใช้ส่วนมากมีอายุหลายสิบไปจนถึงหลายร้อยปี แต่เก็บรักษาได้ดีเหลือเกิน ภายในโถงกุยหยวนแผ่ความน่าเกรงขามอย่างหนึ่งออกมา

    ตอนที่คนทั้งสองมาถึงด้านนอกประตูหน้าก็มีคนไปรายงานเจ้าสำนักไว้ก่อนแล้ว ยามนี้มันนั่งตัวตรงอยู่บนเก้าอี้ใต้แผ่นป้ายคำขวัญปาสู่ไร้สองขนาดใหญ่นั่นพอดี หลับตาทั้งสองข้างลง

    * ซุ้มประตูเขา (山门 ซานเหมิน) เดิมเป็นคำเรียกซุ้มทางเข้าวัดซึ่งมักตั้งอยู่ในเขตเขา ภายหลังเมื่อวัดตั้งอยู่ในเขตที่ราบจึงเปลี่ยนคำเรียกเป็น ‘ซุ้มสามประตู (三门 ซานเหมิน)’ เนื่องจากมีช่องทางเดินสามช่อง

    * ตำบลเว่ยเจียง (เว่ยเจียงเจิ้น) เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลไท่อัน (ไท่อันเจิ้น) หลังสมัยราชวงศ์ชิง ปัจจุบันยังคงมีอยู่

    Comments

    comments

    Continue Reading

    More in ทดลองอ่าน

    นิยายยอดนิยม

    Facebook