• Connect with us

    Enter Books

    ทดลองอ่าน

    ทดลองอ่าน แฟ้มคดีพิศวงของนักประเมินอัจฉริยะ Q 9 ตอนที่ 3

    “หมายถึงแบบสอบถามนั่นน่ะเหรอคะ”

    “ใช่แล้ว นั่นไม่ใช่แบบสอบถามเพื่อนำมาเขียนคอลัมน์ในนิตยสาร แต่ทางเราขอให้ช่วยส่งแบบสอบถามนั้นไปทั่วประเทศญี่ปุ่นเพื่อเก็บข้อมูลน่ะ ที่ไม่ใช้สื่อของฝรั่งเศสก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครอ่านเจตนาออก และเธอก็ตอบแบบสอบถามมาว่า ‘โมนาลิซา’ ที่จัดแสดงอยู่ไม่ใช่ของจริง”

    “อะ เอ่อ…ฉันแค่รู้สึกแบบนั้นเป็นการส่วนตัวน่ะค่ะ…”

    “ดีแล้ว ดีมาก นั่นแหละคุณสมบัติของบุคลากรที่พวกเราตามหา”

    ชายท่าทางเหมือนเจ้าพนักงานคนหนึ่งโผล่หน้ามาจากประตู “การอธิบายจะเริ่มแล้วนะครับ”

    อัลลิงกัมพยักหน้าให้พนักงานคนนั้นแล้วหันกลับมาหาริโกะ “ถ้าเธอไม่รังเกียจ ช่วยเข้าไปลองฟังดูหน่อยได้ไหม มันน่าจะเป็นโอกาสก้าวหน้าครั้งใหญ่ของเธอในฐานะนักประเมิน”

    ริโกะยังงงๆ แต่ยอมก้าวไปที่ประตูโดยไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่

    ยูโตะเข้าไปกระซิบ “ขอโทษนะ เมื่อเช้ากรมวัฒนธรรมติดต่อมาที่กองบรรณาธิการผม แล้วสั่งให้พาตัวคุณมาให้ได้”

    “อืม ไม่เป็นไรหรอก…แต่ไม่รู้ข้างในจะคุยเรื่องอะไร”

    พนักงานเปิดประตูรออยู่ ริโกะโค้งศีรษะพลางเดินเข้าไป

    ดูเหมือนอัลลิงกัมกับยูโตะไม่คิดจะเดินมาด้วย ที่นั่งในห้องโถงขนาดเล็กถูกจับจองด้วยผู้ฟังร่วมร้อยชีวิต ทุกคนในนี้คงเป็นนักประเมินที่ได้รับคำเชิญจากเจ้าหน้าที่ของลูฟว์เหมือนเธอ

    ริโกะกวาดตาหาที่ว่างและสบตากับคนคุ้นหน้าหลายคนซึ่งล้วนเป็นนักประเมินผู้เชี่ยวชาญ เธอโค้งศีรษะเล็กน้อยทักทายเหล่ารุ่นพี่ อีกฝ่ายโค้งศีรษะตอบ แต่ละคนแต่งกายด้วยชุดแตกต่างกันออกไปคงเพราะถูกเรียกตัวมากะทันหัน ริโกะเห็นแล้วก็โล่งอก

    มีชายหญิงวัยยี่สิบกว่านั่งอยู่ด้วยหลายคนแต่ริโกะไม่รู้จัก สุดท้ายเธอก็เจอเก้าอี้ว่างและเดินเข้าไปนั่ง

    ไม่นานนักทั้งห้องโถงก็หรี่ไฟลง ชายคนหนึ่งปรากฏตัวขึ้นกลางแท่นบรรยายภายใต้แสงไฟ “ผมชื่อนางาซาวะ เป็นหัวหน้าส่วนงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ สำนักเลขาธิการระหว่างประเทศแห่งกรมวัฒนธรรมครับ ต้องขอขอบคุณจากใจที่ทุกท่านกรุณาสละเวลามาที่นี่ในวันนี้ ก่อนอื่นขอเริ่มจากแจ้งข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งยวดซึ่งปัจจุบันยังไม่เปิดเผยกับสื่อมวลชน”

    นางาซาวะกวาดตามองทั่วที่นั่งผู้ฟังซึ่งพากันเงียบกริบ บ่งบอกว่าสิ่งที่กำลังจะพูดจากนี้เป็นเรื่องสำคัญใหญ่หลวง

    “ในเดือนมิถุนายนปีนี้” นางาซาวะเน้นทุกคำพูด “ ‘โมนาลิซา’ จะมาเยือนญี่ปุ่นครับ”

    เสียงแซ่ดพลันดังจากที่นั่งผู้ฟัง ริโกะพลอยอึ้งไปด้วย

    เสียงอันหนักแน่นของผู้บรรยายยังดังก้อง “นี่นับเป็นนิทรรศการจัดแสดง ‘โมนาลิซา’ ครั้งแรกในรอบสามสิบเจ็ดปีนับตั้งแต่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติโตเกียวในปีหนึ่งพันเก้าร้อยเจ็ดสิบสี่ โดยทางรัฐบาลฝรั่งเศสเสนอจะให้ยืมภาพวาดที่โด่งดังที่สุดในโลกนี้ในฐานะแผนเยียวยาครั้งใหญ่ทั้งในด้านเศรษฐกิจและศิลปะให้กับประเทศของเราซึ่งประสบกับภัยพิบัติไม่คาดฝัน การหารือกับทางพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ก็ดำเนินไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว ลำดับถัดไปผมขอเชิญคุณโอดิลอง โบวิเย ภัณฑารักษ์แห่งลูฟว์มาอธิบายรายละเอียดครับ”

    นางาซาวะเดินถอยออกไปท่ามกลางความเงียบอันตึงเครียด ผู้ก้าวขึ้นมาแทนคือชาวผิวขาวรูปร่างสูงยาวเข่าดีอายุราวสามสิบห้า รูปหน้าเล็ก จมูกโด่งและผมสั้นสะอาดตากับหนวดสีเกาลัด บุคลิกราวกับชนชั้นสูง ถ้ามีใครแนะนำว่าเขาเป็นขุนนางก็คงเชื่อสนิทใจ

    โอดิลอง โบวิเย…ริโกะเคยอ่าน ‘บทวิจัยในเชิงพระคัมภีร์ของดาวินชี’ ที่ประพันธ์โดยชายคนนี้ เขาก็คือภัณฑารักษ์ระดับหัวกะทิผู้สร้างชื่อจากงานวิจัยเกี่ยวกับ ‘โมนาลิซา’ ตั้งแต่ยังหนุ่ม

    โบวิเยยืนหน้าไมโครโฟนแล้วกล่าวพร้อมรอยยิ้ม “บงชูว์มาดาม เซต์เมอซิเออร์”

    เจ้าตัวทักทายอย่างเป็นธรรมชาติเรียกเสียงพึมพำทักทายตอบจากผู้ฟังได้พอสมควร ริโกะยังถึงกับอึ้งเมื่อได้ยินแต่ละคนออกเสียงได้เป๊ะอย่างกับเจ้าของภาษา

    จริงสิ ในแบบสอบถามมีคำถามว่า ‘คุณพูดฝรั่งเศสได้หรือไม่’ ด้วย คงเพราะเงื่อนไขแรกในการเข้าร่วมคือภัณฑารักษ์จากลูฟว์จะพูดภาษาแม่โดยไม่มีล่าม ดังนั้นต้องตั้งใจฟังเนื้อหาไม่ให้ตกหล่น

    ฝ่ายโบวิเยดูจะใส่ใจอยู่บ้างว่าผู้ฟังบรรยายเป็นชาวญี่ปุ่นจึงบรรยายค่อนข้างช้า “ลูฟว์วางแผนจะส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบชีวิตเพื่อประสานงานในการจัดแสดง ‘โมนาลิซา’ ภาพวาดสีน้ำมันผลงานของเลโอนาร์โดดาวินชีซึ่งโด่งดังชนิดไม่มีใครไม่รู้จัก ณ ประเทศญี่ปุ่น นอกจากผมและภัณฑารักษ์ท่านอื่นแล้วยังมีนักประเมิน นักซ่อมแซมที่ศึกษางานอยู่กับทาง INP หน่วยงานรัฐบาลที่รับหน้าที่ดูแลและทำนุบำรุงมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้งหลาย ขอแจ้งให้ทราบก่อนว่าตลอดช่วงที่ ‘โมนาลิซา’ อยู่ในญี่ปุ่น การควบคุมดูแลทั้งหมดคือหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ชาวฝรั่งเศส ไล่ตั้งแต่การส่งออกจากฝรั่งเศส นำเข้ามาที่ญี่ปุ่น ตลอดจนการติดตั้งและปลดจากกำแพง ทุกกิจกรรมที่ต้องสัมผัสกับภาพ พวกเราจะจัดการเอง ไม่จำเป็นต้องรบกวนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นครับ นี่เป็นวิธีการทำงานที่ยึดเป็นมาตรฐานเดียวกันมาตลอดไม่ว่าจะจัดนิทรรศการที่ประเทศไหน”

    คำอธิบายฟังเหมือนมีไมตรีจิต แต่แท้จริงแล้วเป็นการยืนกรานหนักแน่นว่าจะไม่ยอมให้ใครแตะต้อง ‘โมนาลิซา’ นอกจากชาวฝรั่งเศส ในหนังสือที่เจ้าตัวเขียนก็ระบุเรื่องแบบนี้ไว้เหมือนกัน

    Comments

    comments

    Continue Reading

    More in ทดลองอ่าน

    นิยายยอดนิยม

    Facebook